โจ๊กปริศนาเมืองชล
โจ๊กปริศนาเมืองชล แบ่งออกเป็นประเภท ๆ และแต่ละประเภทนี้ยังแบ่งออกเป็นประเภทย่อย ๆ ลงไปอีกประเภทละหลาย ๆ อย่างก็มี เราจึงเรียก “ประเภท” ว่า ” แบบ” เรียกประเภทย่อย ๆ ว่า “อย่าง” เพื่อให้ผู้เล่นที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และชาวบ้านได้เข้าใจตรงกันอย่างง่่าย ๆ
การแยก “แบบ” ของการทายโจ๊กปริศนาออกเป็นชนิดต่าง ๆ มากกว่า ๑๑ ชนิดของจังหวัดชลบุรีนั้นต้องอาศัย “คำตอบ” หรือ “คำเฉลย” เป็นหลัก เดิมเรียกว่า “ธง” เมื่อผู้เล่นทายผิดแบบ “นายโจ๊ก” จะบอกว่า “ผิดธง” ดังนั้น ผู้ที่จะเขียนโจ๊กปริศนาลงในแผ่นกระดาษออกมาแขวนบนเส้นลวดให้คนเล่นทายกันได้จะต้องมีครามรู้เรื่อง “แบบ” หรือ “ธง” ของโจ๊กปริศนาให้ถ่องแท้เสียก่อน ส่วนคนทายก็มิได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ยิ่งมีความรู้เรื่องเทคนิควิธีการของผู้ตั้งปริศนามากเท่าใดก็ย่อมจะคิดค้นหาคำตอบได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น ต่างกันอยู่แต่เพียงว่า คนสร้างปริศนาจนลอกลงแผ่นกระดาษออกมาติดให้คนทายได้นั้นผิดพลาดไม่ได้ ทั้งภาษาไทยที่นำมาเขียนเป็นคำประพันธ์และสำเนียงของภาษาต่าง ๆ ที่นำมาตั้งเป็นคำตอบเพราะถือว่า “นายโจ๊ก” เป็นผู้ที่มีความรู้ดีกว่าคน “ทายโจ๊ก”